เกี่ยวกับมรดกโลก

มรดกโลก คือ สถานที่ อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงเมือง ซึ่งคัดเลือกโดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติ หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรจะปกป้องสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต

           

อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก

แหล่งวัฒนธรรมหรือแหล่งธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็น “มรดกโลก” ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศใดก็ถือว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวง และเพื่อยับยั้งความสูญสลายและเสื่อมโทรมของสมบัติล้ำค่าของโลก อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” จึงถูกกำหนดขึ้นในการประชุมใหญ่สมัยสามัญ ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยการรับรองขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 1518 เป็นต้นมา โดยแบ่งมรดกโลกออกเป็น 2 ประเภท  ได้แก่ มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) และมรดกทางธรรมชาติ (Natural Heritage)

         มรดกทางวัฒนธรรม หมายถึง สถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถานไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หรือแหล่งโบราณคดีทางธรรมชาติ เช่น ถ้ำ หรือกลุ่มสถานที่ก่อสร้างยกหรือเชื่อมต่อกันอันมีความเป็นเอกลักษณ์ หรือแหล่งสถานที่สำคัญอันอาจเป็นผลงานฝีมือมนุษย์หรือเป็นผลงานร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งสถานที่เหล่านี้มีคุณค่าความล้ำเลิศทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ มนุษยวิทยา หรือวิทยาศาสตร์

          มรดกทางธรรมชาติ หมายถึง สภาพธรรมชาติที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพอันมีคุณค่าเด่นชัดในด้านความล้ำเลิศทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นสถานที่ซึ่งมีสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งถูกคุกคาม หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของพืชหรือสัตว์ที่หายาก เป็นต้น

           อนุสัญญานี้ต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป ทั้งนี้รัฐภาคีในอนุสัญญาฯ ต้องยอมรับในเบื้องต้นก่อนว่าจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อคุ้มครองป้องกันและสงวนรักษาแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในประเทศของตน และบางครั้งอาจได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เพื่อให้แหล่งมรดกโลกได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมและดีที่สุด

หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นมรดกโลก

หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม 

1. เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์


2. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม

3. เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

4. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

5. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา

6. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

................................................................
หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ


หลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น  แหล่งดังกล่าวจะต้องมีคุณลักษณะโดดเด่นตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้

7. เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลกหรือยุคน้ำแข็ง ซึ่งมนุษย์ดึกดำบรรพ์และสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก

8. เป็นตัวอย่างเด่นชัดในการเป็นตัวแทนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ ลักษณะนี้จะแตกต่างจากหลักเกณฑ์ในข้อแรก กล่าวคือ จะเน้นกระบวนการที่กำลังเป็นอยู่ของชุมชนพื้ชและสัตว์ การเกิดสภาพภูมิประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ทะเล และแหล่งน้ำผิวดิน ลักษณะดังกล่าวนี้จึงรวมถึง
  • ขบวนการทางธรณีวิทยา ภูเขาน้ำแข็ง หรือภูเขาไฟ
  • วิวัฒนาการทางชีววิทยา ตัวอย่างของกลุ่มสิ่งมีชีวิต เช่น ป่าไม้เขตร้อน ทะเลทราย ที่ราบทุนด้า

9. เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์หายากเป็นพิเศษ เช่น การเกิดหรือลักษณะหรือแหล่งที่มีความงดงามทางธรรมชาติกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่น ระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษ สภาพธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา และน้ำตก แหล่งรวมความหนาแน่นของสัตว์ สภาพทิวทัศน์ที่มีพืชนานาชนิดเป็นองค์ประกอบ และแหล่งรวมความผสมผสานระหว่างองค์ประกอบทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

10. เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
................................................................